การดูแลให้ประชาชนมีสุขภาพดีและการรักษาพยาบาลเป็นหน้าที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลและของสภามณฑลเทศบาลรับผิดชอบในการให้บริการ การดูแลรักษาคนชรา ผู้ป่วยระยะยาว คนพิการโดยการจัดสถานที่อยู่อาศัยแบบพิเศษให้ ได้แก่ บ้านพักอาศัยพร้อมการบริการ(servicehus) ส่วนสภามณฑลรับผิดชอบเรื่องการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาล นอกจากนั้นการให้บริการด้านรักษาพยาบาล และการดูแลรักษาก็ยังมีภาคเอกชนที่เข้ามาให้บริการด้วยโดยการเข้ามารับหน้าที่ช่วงต่อมาจากเทศบาล และสภามณฑลหรือเข้ามาบริการเอง
เนื่องจากสวีเดนเป็นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการให้กับทุกคน ดังนั้นการไปหาหมอเพื่อขอการรักษาจะฟรีให้กับทุกคน แต่ก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่เราต้องออกเองแต่ก็ไม่ได้แพงมาก ค่าใช้จ่ายบางอย่างที่เราต้องจ่ายเอง เช่น
ค่าใช้จ่ายเมื่อต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
ขอใบรับรองแพทย์
ฉีดวัคซีนที่ต้องการเอง เช่น วัคซีนป้องกันเห็บ วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค เป็นต้น
รองเท้าพิเศษสำหรับคนที่มีปัญหา
พบนักกายภาพบำบัด
ยาบางชนิด
งานทันตกรรมบางประเภท
หากเรารู้สึกว่าเราไม่สบาย ป่วยหรือเกิดการบาดเจ็บที่ร่างกาย สิ่งแรกที่ต้องทำคือการติดต่อไปศูนย์อนามัย (vårdcentralen) ที่มีชื่อของเราลงทะเบียนไว้หรือเราสามารถโทรเพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลรักษาตัวเองในเบื้องต้น ให้โทรไปที่ 1177 ที่เบอร์นี้จะมีพยาบาลให้คำปรึกษาและบอกเราว่าต้องทำอะไรบ้าง หากต้องมีการไปหาหมอที่ศูนย์อนามัย (vårdcentralen) พยาบาลก็จะแนะนำให้เราติดต่อศูนย์อนามัยนั้น ๆ
นอกจากจะโทรไปขอคำปรึกษาได้ที่เบอร์ 1177 เรายังสามารถหาข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ของ 1177.se อีกเช่นกัน
จะไปหาหมอที่ศูนย์อนามัย (vårdcentralen) เราต้องโทรศัพท์เพื่อขอจองเวลาก่อนเสมอ!
โดยปกติการรับบริการด้านสาธารณสุขจะต้องทำในเขตมณฑลที่ตนอาศัยอยู่ แต่การรับบริการข้ามเขตมณฑลก็สามารถทำได้เช่นกัน
การดูแลขั้นปฐมภูมิหรือการบริการสาธารณสุขเบื้องต้นของแต่ละมณฑลมีศูนย์อนามัย (vårdcentralen) ที่ผู้ใช้บริการสามารถเลือกแพทย์ได้เอง พื่อให้การดูแลรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แพทย์ในลักษณะนี้จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป
เช่น แพทย์ประจำเขต (distriktsläkare) แพทย์ประจำบ้าน (husläkare) หรือแพทย์ประจำครอบครัว (Familjeläkare) โอกาสในการเลือกแพทย์ หรือเลือกโรงพยาบาลเองนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกฎของแต่ละสภามณฑล อย่างไรก็ตามการรักษาในกรณีของการป่วยแบบฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลไหนก็ได้ทั่วประเทศโดยจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคนไข้ในอัตราที่สภามณฑลเขตนั้นได้กำหนดไว้แต่หากผู้ป่วยที่ไม่ได้ป่วยแบบฉุกเฉิน และต้องการไปรับการรักษานอกเขตสภามณฑลของตน โดยไม่ได้มีใบส่งตัวของแพทย์ (remiss) ก็สามารถทำได้ โดยจะต้องจ่ายค่าเดินทาง และค่าธรรมเนียมคนไข้ตามอัตราของสถานพยาบาลแห่งนั้นเอง
เอกสารอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้ารักษาพยาบาล
ข้อมูลนำมาจากหนังสือ “คู่มือคนไทยในสวีเดน” จัดทำโดยสถานเอกอัคราชฑูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม
กรณีเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงหรือป่วยร้ายแรงอย่างกระทันหัน เช่น หัวใจวาย กระดูกหัก หรือหายใจไม่ออกอย่างฉับพลัน ให้โทรศัพท์ไปที่ 112 หรือเดินทางไปที่แผนกฉุกเฉิน (akutmottagning) ที่โรงพยาบาล
การป่วยฉุกเฉินแบบไม่ร้ายแรงให้ติดต่อศูนย์อนามัย (vårdcentral) หรือพยาบาลประจำเขต (distriktssköterska) ถ้าเป็นเวลากลางคืนก็จะมีศูนย์แพทย์เวร (jourcentral) ไว้คอยให้บริการ สภามณฑลส่วนใหญ่จะมีพยาบาลเวร (jour- sköterska) และศูนย์ข้อมูล การรักษาพยาบาล (sjukvårdsupplysning) ที่สามารถโทรติดต่อได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้จากสมุดโทรศัพท์หรือติดต่อสภามณฑลที่ตนพักอาศัยอยู่
โดยตรง
ข้อมูลนำมาจากหนังสือ “คู่มือคนไทยในสวีเดน” จัดทำโดยสถานเอกอัคราชฑูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม
เมื่อมีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นต้องแจ้งตำรวจโดยเร็วที่สุด ผู้แจ้งอาจจะเป็นผู้ที่ถูกทำร้ายเอง พยาน หรือผู้ใดก็ได้ที่ทราบเรื่อง ผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกาย ควรไปหาแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยทันทีและขอให้แพทย์ทำบันทึกบาดแผลไว้ด้วย หลักฐานสำคัญคือ ใบรับรองแพทย์ แม้ว่าจะไม่ได้มีการรับรักษาก็ตาม
การแจ้งความต่อตำรวจ สามารถทำได้ทางโทรศัพท์ หรือไปแจ้งด้วยตนเอง ถ้าผู้ถูกทำร้ายไม่สามารถแจ้งความได้เอง ก็สามารถขอให้ผู้อื่นแจ้งแทนได้ การแจ้งความสามารถทำได้โดยโทรไปยังหมายเลข 112
ข้อมูลนำมาจากหนังสือ “คู่มือคนไทยในสวีเดน” จัดทำโดยสถานเอกอัคราชฑูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม
เด็กที่ถูกทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำร้ายทางร่างกายหรือจิตใจจะต้องได้รับความช่วยเหลือ หรือแม้กระทั่งบุคคลอื่นในครอบครัวก็ต้องได้รับความช่วยเหลือด้วยเช่นกัน หากสงสัยว่ามีการทำร้ายร่างกายเด็กเกิดขึ้นในครอบครัวของเด็ก ควรแจ้งให้สำนักงานสังคมได้รับทราบ และผู้ที่ได้รับรู้จากการปฏิบัติหน้าที่ของตน เช่น แพทย์ พยาบาล ตำรวจ ครูมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ศูนย์อนามัยเด็ก (Barnavårdscentral) ศูนย์จิตเวชเด็กและเยาวชน(Psykiska Barn- och ungdomsvården – PBU) พยาบาลประจำโรงเรียน(skolsköterska) หรือพยาบาลประจำเขต (distriktssköterska) ได้รับทราบ หรือแจ้งไปที่ตำรวจ หรือ องค์การสิทธิเด็กในสังคม (Barnens rätt i samhället -BRIS)
ข้อมูลนำมาจากหนังสือ “คู่มือคนไทยในสวีเดน” จัดทำโดยสถานเอกอัคราชฑูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม
ค่าใช้จ่ายในการอยู่โรงพยาบาลตามปกติ (ค่าใช้จ่ายนี้เราต้องจ่ายเอง)
นอกเหนือไปจากนี้แล้วคนไข้ก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรอีก โรงพยาบาลจะส่งใบเรียกเก็บเงินที่บ้าน หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว
ผู้มีครรภ์ที่ต้องการทำแท้ง ควรติดต่อกับพยาบาลผดุงครรภ์/ศูนย์สุขภาพมารดาคลินิกวัยรุ่น หรือแผนกสตรีที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด และหลังจากที่หารือกันแล้วและถ้า
ยังต้องการทำแท้ง ก็จะทำให้ ถ้าครรภ์ยังไม่ถึง 18 สัปดาห์ แต่ถ้ามีครรภ์แก่กว่า 18 สัปดาห์ ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการสังคมก่อน โดยจะต้องมีเหตุผลพอเพียงและการมีครรภ์จะต้องไม่เกินสัปดาห์ที่ 20
ข้อมูลนำมาจากหนังสือ “คู่มือคนไทยในสวีเดน” จัดทำโดยสถานเอกอัคราชฑูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม
ผู้มีอายุครบ 25 ปี และมีสัญชาติสวีเดนหรือพักอาศัยอยู่ในสวีเดนสามารถขอทำหมันได้ ก่อนที่จะมีการทำหมันเจ้าหน้าที่ผู้ให้คแนะนำ แพทย์ หรือพยาบาลผดุงครรภ์จะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลของการทำหมัน การให้คำปรึกษาเรื่องการทำหมันจะไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่การทำหมันผู้ต้องการทำจะต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง
การทำหมันสำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 ปี ถึง 25 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการสังคม ซึ่งจะอนุญาตให้ก็ต่อเมื่อมีเหตุผลทางพันธุกรรมเท่านั้น และถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องมีเหตุผลทางด้านการแพทย์เท่านั้น
ข้อมูลนำมาจากหนังสือ “คู่มือคนไทยในสวีเดน” จัดทำโดยสถานเอกอัคราชฑูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม
การตรวจสอบว่าตั้งครรภ์หรือไม่ สามารถทำได้หลังจากที่ระดูไม่มาตามกำหนดประมาณ 10 ถึง 12 วัน การตรวจสอบนี้ทำโดยการตรวจปัสสาวะที่คลินิกพยาบาลผดุงครรภ์ ศูนย์สุขภาพมารดา และคลินิกวัยรุ่น หรือจะซื้ออุปกรณ์การตรวจมาตรวจเองที่บ้านก็ได้
นอกจากการตรวจสอบเรื่องการมีครรภ์แล้ว คลินิกพยาบาลผดุงครรภ์/ศูนย์สุขภาพมารดายังติดตามดูแลการตั้งครรภ์ไปตลอดจนคลอด พร้อมทั้งให้ความรู้ต่อผู้เป็น
บิดามารดา แนะนำเรื่องการคุมกำเนิด ตรวจสอบสุขภาพมารดา และการทำแท้ง บริการต่างๆ เหล่านี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ข้อมูลนำมาจากหนังสือ “คู่มือคนไทยในสวีเดน” จัดทำโดยสถานเอกอัคราชฑูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม
วัคซีนสำหรับเด็ก
เด็กทุกคนที่อยู่ในสวีเดน มีสิทธิได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคร้ายแรง 9 ชนิด คือ โรคคอตีบ (Difteri) บาดทะยัก (Stelkramp) ไอกรน (Kikhosta) โปลิโอ
(Polio) หัด (Mässling) คางทูม (Påssjuka) หัดเยอรมัน (Röda hund) บักเตเรีย Hib (Hib-infektion) บักเตเรีย Pneumokock (Pneumokockinfektion)
วัคซีนสำหรับผู้ใหญ่
สตรีมีครรภ์จะได้รับการตรวจที่ศูนย์อนามัยมารดาว่ามีภูมิต้านทานโรคหัดเยอรมันหรือไม่ ผู้ที่ไม่มีภูมิต้านทาน หรือมีไม่พอจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคนี้ โปรแกรมวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอได้ยกเลิกไปแล้ว แต่สำหรับผู้ที่ต้องการฉีดให้ครบก็สามารถไปรับการฉีดวัคซีนนี้ได้จากศูนย์อนามัย (vårdcentraler) เมื่อเกิดโรคระบาดคณะกรรมการสังคมจะประกาศทางสื่อมวลชนสำหรับเรื่องบริการวัคซีนที่จำเป็น
วัคซีนเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ
การฉีดวัคซีนก่อนเดินทางไปต่างประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับประเทศ และระยะเวลาการพักอาศัยในประเทศนั้น ๆ ผู้เดินทางสามารถขอรายละเอียดได้จากคลินิกที่ให้บริการฉีด
วัคซีน เกี่ยวกับชนิดวัคซีนที่จำเป็น โดยผู้รับวัคซีนจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง
ข้อมูลอื่น ๆ
ข้อมูลนำมาจากหนังสือ “คู่มือคนไทยในสวีเดน” จัดทำโดยสถานเอกอัคราชฑูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม
สวีเดนมีสวัสดิการตรวจสุขภาพประจำปีฟรีตามช่วงอายุ เราสามารถขอรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
บริการเรื่องการดูแลรักษาฟันจะอยู่ในความดูแลของสภามณฑลโดยผ่านระบบการดูแลฟันของประชาชน (Folktandvården) และทันตแพทย์ของเอกชน สภามณฑลจะรับผิดชอบเฉพาะการทำฟันที่เป็นเหตุเนื่องมาจากการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเท่านั้นนอกนั้นอยู่ในความดูแลของเทศบาล
เด็กและวัยรุ่นมีสิทธิได้รับการดูแลรักษาฟัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายไปจนถึงปีที่มีอายุครบ 23 ปีและเมื่ออายุครบ 24 ปีแล้วจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการทำฟันเองทั้งหมด
ทราบหรือไม่ว่า เราสามารถเลือกหมอฟันเองได้และเลือกสถานที่ที่จะไปทำฟันได้ หากเราต้องการขอเงินช่วยเหลือเพื่อการรักษาฟันจากรัฐ อย่าลืมเช็คว่าร้านหมอฟันที่เราจะไปได้ลงทะเบียนไว้กับกองทุนประกันสังคม (Försäkringskassan)
วัตถุประสงค์เพื่อให้ใช้สำหรับการตรวจและการป้องกัน กองทุนประกันสังคมจะเป็นผู้รับผิดชอบ และจะส่งเงินให้กับทันตแพทย์ หรือผู้ดูแลสุขภาพฟัน (tandhygienist)
โดยตรง คนไข้ไม่ต้องยื่นขอและจำนวนเงินช่วยเหลือนี้จะมีมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับอายุ
ตั้งแต่อายุ 24 ปีขึ้นเราจะได้รับเงินช่วยเหลือสำหรับทำฟัน
24 ปี – 29 ปี เงินช่วยเหลือเพื่อการรักษาฟันได้รับ 600 โครนาสวีเดนต่อปี
30 ปี – 64 ปี เงินช่วยเหลือเพื่อการรักษาฟันได้รับ 300 โครนาสวีเดนต่อปี
65 ปี เป็นต้นไป เงินช่วยเหลือเพื่อการรักษาฟันได้รับ 600 โครนาสวีเดนต่อปี
คนไข้จะจ่ายค่ารักษาฟันเองไม่เกินปีละ 3 000 โครนาสวีเดน ส่วนที่เกินนั้นกองทุนประกันสังคมจะเป็นผู้จ่ายส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคนไข้ต้องจ่ายเอง ค่ารักษาฟันที่นำมาใช้คำนวณคือราคาค่ารักษาฟันที่เรียกว่า “ราคาอ้างอิง (referenspris) ที่รัฐเป็นผู้กำหนดไม่ใช่ราคาของทันตแพทย์สัดส่วนที่กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้มีดังนี้
หากเราพบว่าเรามีอาการหดหู่ เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้าเป็นเวลามากกว่าสองอาทิตย์จนทำให้มีผลเสียกับการใช้ชีวิตประจำวัน เราสามารถโทรไปที่ศูนย์อนามัยหรือสถานพยาบาล (Vårdcentralen) เพื่อจองเวลาพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ได้
หรือต้องการคำปรึกษาและคำแนะนำโทรไปที่ 1177 ได้ตลอดชั่วโมง
ThaiWISE – Hela Människan i Malmö
Per Albin Hanssons 32A,
214 32, Malmö
Hela Människan Malmö
Poststugan 78
211 65 Malmö
© THAIWISE – HELA MÄNNISKAN I MALMÖ. ALL CONTENT COPYRIGHTED | COOKIES
เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณพบกับความแตกต่างจากผู้ใช้อื่น ๆ ของเว็บไซต์ของเรา ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เราสามารถส่งมอบประสบการณ์ ที่ดีเมื่อคุณติดตามเนื้อหาในเว็บไซต์ของเราและยังช่วยให้เราในการปรับปรุงเว็บไซต์ของเราอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าคุณได้ยินยอมให้เราใช้คุกกี้